ประวัติวัดท่าพูด


           วัดท่าพูด เป็นวัดมหานิกาย ตั้งอยู่ริมแม่นํ้าท่าจีน ตำบลไร่ขิง อำเภอสามพราน จังหวัดนครปฐม เดิมชื่อว่า (วัดเจตภูต) โดยมีเรื่องเล่าเป็นตำนานสืบต่อกันมาว่า มีพี่น้องสองคนนั่งอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่พอพี่ชายนอนหลับไป น้องชายมองเห็นตัวแมงดาวเรืองคลานออกมาจากจมูกของพี่ชายและมันก็คลานหายเข้าไปในจอมปลวก ต่อมาตัวเองก็นอนหลับไปเช่นกันและฝันไปว่ามีภูติมาบอกว่ามีทรัพย์สมบัติกองอยู่มากมายในภูเขา ขอให้ขุดเอามาขายเพื่อเอาเงินสร้างวัด พอสะดุ้งตื่นขึ้นมาจึงเล่าเรื่องให้พี่ชายฟัง จากนั้นจึงได้ช่วยกันขุดดินหาสมบัติแต่ไม่พบ จึงได้หวนนึกถึงเรื่องที่ภูติมาบอกและตัวแมงดาวเรืองเดินเข้าไปในจอมปลวก จึงขุดค้นดูในจอมปลวกและได้ทรัพย์สมบัติมามากมายจึงเอามาขายเพื่อนำเงินมาสร้างวัดตามความฝันและได้เดินทางมาหาที่สำหรับสร้างวัด ได้พบกับทางสามแพร่งแห่งหนึ่ง มองดูเหมาะสมจึงได้สร้างวัดขึ้น ณ ที่แห่งนี้โดยได้ให้ชื่อวัดตามที่เจตภูตมาบอกว่า “วัดเจตภูต” ต่อมาคำกร่อนเป็น “วัดตะพูด” และ “วัดท่าพูด” ตามลำดับ ประวัติการสร้างของวัดท่าพูดนี้ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่พอจะสืบประวัติได้พอเป็นแนวทาง คือ เมื่อ พ. ศ. 2310 กรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่า ประชาชนพลเมืองชาวกรุงศรีอยุธยาเกิดความระสํ่าระสาย ต้องอพยพครอบครัวลงมาทางใต้เป็นกลุ่มก้อน ในจำนวนนี้มีพระราชาคณะร่วมมาด้วยรูปหนึ่ง ซึ่งชาวกรุงศรีอยุธยาเรียกท่านว่าพระอาจารย์รด เหตุที่ชาวพระนครศรีอยุธยาหนีลงมาทางใต้นี้ก็เนื่องจากบริเวณแม่นํ้าท่าจีน คือตั้งแต่จังหวัดสุพรรณบุรี นครปฐม สมุทรสาคร เป็นดินแดนแห่งความสงบ พม่าไม่ชำนาญทางในการเดินทัพมาบริเวณนี้ เมื่อกลุ่มอพยพหนีภัยลงมาทางใต้ มาถึงที่กลางทุ่งนาแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ในท้องที่ตำบลกระทุ่มล้ม อ. สามพราน จ. นครปฐม จึงพร้อมใจกันตั้งหลักฐานบริเวณนั้น และได้ช่วยร่วมกันสร้างสำนักสงฆ์ชั่วคราวขึ้นในขณะนั้นวัดท่าพูด กําลังจะกลายเป็นวัดร้าง เนื่องจากไม่มีพระภิกษุจำพรรษา ชาวบ้านท่าพูดรู้ข่าวว่ามีพระภิกษุหนีพม่ามาตั้งสำนักที่กลางทุ่งนา จึงพร้อมใจกันไปอาราธนาให้ท่านมาจำพรรษา ณ วัดท่าพูด และกราบเรียนท่านว่า วัดท่าพูดตั้งอยู่ริมแม่นํ้าท่าจีน ได้รับความสะดวกด้วยประการทั้งปวงประกอบกับขณะนี้ชาวท่าพูดขาดที่พึ่งทางใจ ซึ่งพระอาจารย์รดก็รับนิมนต์มาจำพรรษาที่วัดท่าพูดด้วยความเต็มใจ ครั้นเมื่อสงครามสงบ พระเจ้าตากสินกู้เอกราชชาติไทยได้ พระองค์คิดจะรวบรวมพระราชาคณะที่แตกสานซ่านเซ็นไปอยู่ที่อื่นให้กลับมาอยู่ในพระอารามหลวงในกรุงธนบุรี จึงให้ทหารติดตามค้นหา และได้มาพบพระอาจารย์รดที่วัดท่าพูด ท่านได้บอกกับทหารให้ไปกราบทูลพระเจ้าตากสินว่า ขอจำพรรษาอยู่ ณ วัดท่าพูดนี้ เพราะท่านรับอาราธนาจากแถบบ้านท่าพูดแล้วที่จะอยู่เป็นที่พึ่งทางใจแก่ประชาชน ในยามที่บ้านเมืองกําลังวุ่นวาย เมื่อพระเจ้าตากสินทราบความประสงค์ของท่านแล้ว จึงได้พระราชทานเรือกัญญา 2 ลำ คานหาม 1 อัน กระโถนและกานํ้าลายเทพพนม อย่างละ 1 ชิ้น มาถวายเป็นเครื่องประดับเกียรติยศ พระอาจารย์รด ท่านจำพรรษาอยู่ที่วัดท่าพูดนี้ นานเท่าใด และมรณภาพเมื่อไรไม่ปรากฏชัด เมื่อพระอาจารย์รดมรณภาพแล้วสืบไม่ได้ว่าเจ้าอาวาสที่สืบต่อจากท่านมีใครบ้าง แต่เจ้าอาวาสองค์ต่อๆ มาที่พอสืบได้ คือ
                1. หลวงพ่อเทศ
                2. หลวงพ่อมาก
                3. หลวงพ่อจ้อย
                4. หลวงพ่อแก้ว
                5. หลวงพ่อชื่น
                6. หลวงพ่อแช่ม
                7. พระปลัดผล
                8.พระอาจารย์โรย
               9. พระครูพิศาลสาธุวัฒน์
           ปี พ.ศ.2543 ทางคณะสงฆ์ได้แต่งตั้งพระครูปลัดสังเวย ฉายา คเวสโก- วิทยฐานะ นักธรรมชั้นเอก ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดท่าพูด ปัจจุบันท่านได้รับพระราชทานแต่งตั้งสมณะศักดิ์เป็นพระครูวรดิตถานุยุต เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2548 จากการที่ท่านได้รับพระราชทานสมณะศักดิ์นี้ แสดงให้เห็นว่า ท่านเป็นพระภิกษุที่ทำคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและพระศาสนา

          พระประธานวัดท่าพูด
พระอุโบสถปกติแล้วจะดูเหมือนปิดประตูเอาไว้ แม้ว่าจะเดินทางมาในวันเสาร์-อาทิตย์ ซึ่งปกติวัดทั่วไปหลายวัดจะมีการเปิดให้ประชาชนได้เข้าชมและสักการะพระประธานในพระอุโบสถ โดยเฉพาะอย่างยิ่งวัดท่าพูดเป็นวัดที่มีโบราณวัตถุและเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ แต่ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เพราะประตูพระอุโบสถจะปิดไว้ตลอดเวลา แต่เมื่อมีคนเข้ามาสักการะองค์พระประธานจะถามผู้ดูแลซึ่งจะได้คำตอบว่า ประตูนั้นปิดไว้ หากจะเข้าไปก็เปิดเข้าไปได้ หลังจากเวลาที่โบสถ์ปิดในตอนเย็นจึงจะมีการล๊อกประตูโบสถ์พระพุทธรูปในพระอุโบสถมีด้วยกันสามองค์บนฐานด้านหน้ามีโต๊ะหมู่บูชาประดับด้วยงาช้างคู่

        พระจุฬามณีวัดท่าพูด
สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 ผู้สร้างชื่อ นายช่วงเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างมาก และสนใจเรื่องพระกัมมัฏฐาน คราวหนึ่งได้เกิดนิมิตมองเห็นพระจุฬามณีเจดีย์บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยเหตุแห่งความเลื่อมใสจึงได้ขายที่นา 50 ไร่ นำมาสร้างพระจุฬามณีเจดีย์ถวายไว้ในพระพุทธศาสนา เพื่อให้ประชาชนได้มากราบไหว้สักการะบูชา เมื่อมีการบูรณะในปี พ.ศ.2527 ได้พบพระเขี้ยวแก้วภายในพระจุฬามณีเจดีย์ลักษณะเป็นแก้วใสเจือสีเหลือเล็กน้อย กว้างยาวประมาณ 2x4 เซนติเมตร คล้ายลูกโป่งในท้องปลาตะเพียน ชาวบ้านเรียกว่า "โป่งปลาตะเพียน" ภายหลังบูรณะได้ทำพิธีและนำบรรจุไว้ที่เดิม การจำลองเอาโลกสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ลงมาสร้างไว้ ณ วัดท่าพูด แห่งนี้ ทุกคนจึงมีโอกาสมากราบไหว้ และสักการะพระจุฬามณีเจดีย์เพื่อเป็นพุทธบูชา เช่นเดียวกับเหล่าเทพยดาทั้งหลายทั้งปวง และยังเป็นพระธาตุประจำผู้เกิดปีจอ ดังนั้น บุญที่ได้จากการไหว้บูชาและสร้างกุศลกับพระธาตุนั้น เชื่อกันว่าแรงนัก หากผู้ใดปฏิบัติบูชาด้วยจิตใจบริสุทธิ์และหมั่นกราบไหว้บูชาตามกำลังจะเกิดสิริมงคลต่อตนเองและครอบครัว

       พิพิธภัณฑ์วัดท่าพูด
ก่อตั้งขึ้นหลังการมรณภาพของท่านพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เจ้าอาวาสวัดท่าพูด เมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 โดยคณะกรรมการของวัดได้มีมติให้จัดทำพิพิธภัณฑ์ของวัดขึ้นด้วยเกรงว่าวัตถุโบราณทั้งหลายจะสูญหาย โดยใช้หอไตรของวัดเป็นพิพิธภัณฑ์ชั่วคราว และเปิดให้ประชาชนเข้าชมครั้งแรกในวันที่ 7 ธันวาคม พ.ศ. 2540 ซึ่งเป็นวันพระราชทานเพลิงศพ อดีตเจ้าอาวาส ในการจัดทำพิพิธภัณฑ์ได้มีการรวบรวมโบราณวัตถุเก่าแก่และมีค่า นำมาทำทะเบียนและเก็บรักษาไว้ในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ โดยมีอาคารจัดแสดงทั้งสิ้น 3 หลังคือ

      อาคารหลังแรก
เดิมเป็นหอไตรของวัด เป็นอาคารชั้นเดียวใต้ถุนสูง ต่อมาดัดแปลงให้จัดแสดงสิ่งของทั้งชั้นบนและ ชั้นล่าง สิ่งของสำคัญที่นำมาจัดแสดงไว้ได้แก่ พระยานมาศ กระโถนถมปัทม์ กานํ้าชา และหัวเรือกัญญา (ซึ่งเป็นสิ่งของที่สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชพระราชทานแด่หลวงพ่อรด เจ้าอาวาสองค์แรกของวัดท่าพูด) พระพุทธรูปจารึกตัวอักษรไทยบนอิฐมอญที่ใช้ก่อสร้างพระอุโบสถ เป็นต้น ส่วนชั้นบนจัดแสดงพระพุทธรูป สิ่งของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่ชาวบ้านนำมาถวายวัด อาทิ ตะเกียง ถ้วย ชาม เครื่องจักสาน เป็นต้น

     อาคารหลังที่สอง
เดิมเป็นกุฏิของท่านเจ้าอาวาสองค์ก่อน(พระครูพิศาลสาธุวัฒน์) ชื่อกุฏิประชาชโนปถัมภ์ สร้างเมื่อ พ.ศ. 2502 และทำการบูรณะใหม่เพื่อจัดทำเป็นพิพิธภัณฑ์ บูรณะแล้วเสร็จในปี พ.ศ. 2543 เป็นอาคารไม้สองชั้น ชั้นล่างจัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของพระครูพิศาลสาธุวัฒน์ เครื่องลายคราม ธนบัตร เปลือกหอย เถรอดเพล เป็นต้น โดยสิ่งของจำนวนหนึ่งได้ขนย้ายมาจากหอไตร เพื่อมาจัดแสดงไว้ที่อาคารหลังใหม่นี้ส่วนชั้นบนเดิมนั้นเป็นนิทรรศการชั่วคราวจัดแสดงกิจกรรมต่าง ๆ ของทางพิพิธภัณฑ์ ต่อมาในกลางปี พ.ศ. 2548 ทางพิพิธภัณฑ์ได้ดัดแปลงชั้นบน เป็นคลังวัตถุของพิพิธภัณฑ์

     อาคารหลังที่สาม
เป็นอาคารไม้ใต้ถุนสูง เดิมเป็นโรงเรียนพระปริยัติธรรมของวัด ต่อมาดัดแปลงเป็นส่วนหนึ่งของพิพิธภัณฑ์วัดท่าพูด ชั้นบนจัดแสดงตู้พระธรรมลายรดนํ้า ตาลปัตร หนังสือพิมพ์เก่าย้อนยุครูปถ่ายเก่าของวัด เป็นต้นส่วนชั้นล่าง จัดแสดง เครื่องสูบนํ้า รุ่นต่าง ๆที่ใช้วิดนํ้า เข้านา ซึ่งปัจจุบันชาวบ้านเลิกใช้แล้ว จึงนำมาถวายให้วัด เพื่อจัดแสดงในพิพิธภัณฑ์ พิพิธภัณฑ์วัดท่าพูดเปิดให้เข้าชมทุกวัน โดยต้องติดต่อล่วงหน้า เพื่อทางพิพิธภัณฑ์จะได้เตรียมวิทยากรนำชม ซึ่งปัจจุบันมีการฝึกเยาวชนจากโรงเรียนวัดท่าพูด เพื่อเป็นมัคคุเทศก์น้อย เยาวชนท้องถิ่นกลุ่มนี้ ยังเข้ามามีส่วนร่วมในงานพิพิธภัณฑ์ด้านการทำทะเบียนและงานอนุรักษ์วัตถุ ซึ่งเป็นหนึ่งในกิจกรรม ของการร่วมมือกันระหว่างพิพิธภัณฑ์วัดท่าพูดและศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ในโครงการวิจัยและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ที่หวังจะให้พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นไม่ใช่แค่โกดังเก็บของเก่า แต่เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชน ขณะเดียวกัน ก็่แสดงวิถีแห่งตัวตนให้กับคนข้างนอกได้ทำความรู้จักและเรียนรู้ด้วย

เปิดวันเสาร์-อาทิตย์และวันหยุดนักขัตฤกษ์ เวลา 09.00-16.00 น. ไม่เสียค่าเข้าชม

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น